เมื่อแสงสุดท้ายของวันกำลังจะหมดลง บรรดาพุทธศาสนิกชนที่มาเตรียมพร้อมคอยท่าอยู่ จะพากันถือถ้วยใส่ดอกไม้ใบเล็ก ๆ กับธูปและโคมเทียน แล้วลงเรือพายมุ่งหน้าสู่วัดกลางน้ำที่มองเห็นอยู่ไม่ไกลเพื่อร่วมเป็นหนึ่งของประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลกซึ่งจัดขึ้นเพียงแค่ 3 ครั้งต่อปีในวันพระใหญ่ วันเพ็ญเดือน 3 เดือน 6 และเดือน 8 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา
เดิมพื้นที่กว๊านพะเยาเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากเทือกเขาไหลลงมาเป็น ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และกลายเป็นหนองน้ำเล็กใหญ่ ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายนของทุกปีปริมาณน้ำจะลดลงทำให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และเป็นเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างตัวเมืองกับหมู่บ้านรอบ ๆ กว๊านพะเยา
ปี พ.ศ.2482 หลังกรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ ชุมชนโบราณดั้งเดิมรวมทั้งวัดจำนวนมากต้องจมอยู่ภายใต้ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ของแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพะเยา และวัดติโลกอาราม ก็เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา
หลังจากระดับน้ำในกว๊านลดต่ำลงในช่วงฤดูแล้งและชาวบ้านที่อาศัยใช้กว๊านแห่งนี้เป็นแหล่งทำมาหากินด้วยการทำประมงน้ำจืดขนาดเล็ก เกิดไปพบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยเข้าเมื่อปี พ.ศ.2526 เรื่องราวของวัดที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำก็หวนกลับคืนมาอีกครั้งว่ากันว่าวัดติโลกอารามเป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนา โปรดให้พระยายุทธิษถิระ เจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2019-2029 ในบริเวณที่เรียกว่า บวกสี่แจ่ง โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ซึ่งถูกค้นพบได้ในวัดร้างกลางกว๊านพะเยาหรือในบริเวณหนองเต่า ทำให้รู้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่มากกว่า 500 ปี พระยายุทธิษถิระสร้างถวายพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา
หลังจากระดับน้ำในกว๊านลดต่ำลงในช่วงฤดูแล้งและชาวบ้านที่อาศัยใช้กว๊านแห่งนี้เป็นแหล่งทำมาหากินด้วยการทำประมงน้ำจืดขนาดเล็ก เกิดไปพบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยเข้าเมื่อปี พ.ศ.2526 เรื่องราวของวัดที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำก็หวนกลับคืนมาอีกครั้งว่ากันว่าวัดติโลกอารามเป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนา โปรดให้พระยายุทธิษถิระ เจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2019-2029 ในบริเวณที่เรียกว่า บวกสี่แจ่ง โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ซึ่งถูกค้นพบได้ในวัดร้างกลางกว๊านพะเยาหรือในบริเวณหนองเต่า ทำให้รู้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่มากกว่า 500 ปี พระยายุทธิษถิระสร้างถวายพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา
หลวงพ่อศิลา (กว๊านพะเยา) หรือพระเจ้ากว๊าน ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำ ก่อนที่จะอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ เนินดินของวัดติโลกอารามกลางกว๊านที่ได้รับการบูรณะแล้วในปี พ.ศ.2550 และประเพณีการเวียนเทียนกลางน้ำที่เป็นหนึ่งเดียวในไทยและหนึ่งเดียวของโลกก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานั้นเอง
การเวียนเทียนกลางน้ำในกว๊านพะเยานั้น จะนั่งเรือเวียนเทียนไปรอบ ๆ วัดติโลกอาราม 3 รอบ โดยบนพื้นที่วัดจะมีพระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วย นอกจากงานตอนช่วงค่ำแล้ว ช่วงเช้าของวันพระใหญ่จะมีการตักบาตรริมกว๊านด้วยข้าวเหนียว ซึ่งชาวบ้านรอบ ๆ กว๊านถือปฏิบัติอยู่เดิมทุกเช้ารวมอยู่ด้วย
ตักบาตรตอนเช้าเสร็จแล้วไปไหว้พระกันต่อที่วัดศรีโคมคำ หรือวัดพระเจ้าตนหลวง อารามหลวงชั้นตรี ที่มีองค์ประธานคือพระเจ้าตนหลวงโดยมีพิธียกเสากระดูกสันหลังเมื่อ พ.ศ. 2034 ใช้เวลาสร้างถึง 33 ปี เสร็จในปี พ.ศ. 2067 โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว ผู้ครองอาณาจักรล้านนา และพระยาเมืองตู้ ผู้ครองเมืองพะเยา โดยในสมัยนั้นมีเจ้าอาวาสองค์แรกที่ปรากฏในตำนานคือ พระธรรมปาล
ว่ากันว่าพระเจ้าตนหลวงองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีโคมคำนี้ เป็นพระองค์น้องของพระเจ้านั่งดิน พระพุทธรูปหนึ่งเดียวที่ประดิษฐานอยู่บนพื้นโดยไม่มีชุกชีเป็นฐาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระนั่งดินใน อ.เชียงคำ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบกันมาว่า เคยมีชาวบ้านได้พากันสร้างฐานชุกชีแล้วได้อัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ แต่ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ฟ้าได้ผ่าลงมาที่กลางพระวิหารถึง 3 ครา พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาพระเจ้านั่งดินมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมตราบจนทุกวันนี้
นอกจากวัดพระนั่งดินแล้วเชียงคำยังมีวัดเก่าแก่ที่ไม่ควรผ่านเลยอย่างวัดนันตาราม วัดประจำชุมชนไทยใหญ่ที่ไม่เพียงมีวิหารไม้สักรูปแบบไทยใหญ่อันงดงามแล้ว ภายในยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น แล้วลงรักปิดทองทรงเครื่องแบบไทยใหญ่หน้าตักกว้างถึง 51 นิ้วด้วย
เชิญร่วมกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำรอบพระธาตุเจดีย์วัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา 24 พฤษภาคม 2556 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา สอบถามรายละเอียดที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา โทร. 0-5448-5781-2 และ ททท.สำนักงานเชียงราย โทร. 0-5371-7433, 0-5374-4674-5